ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562

บทที่ ๒ เภสัชวัตถุ : ๒.พืชวัตถุ

๒. พืชวัตถุ

๒.๑ พืชจําพวกต้น ได้แก่ พืชพรรณไม้ เป็นต้นเล็ก ต้นใหญ่ เป็นกอ เป็นพุ่ม มีแก่นบ้าง ไม่มีแก่นบ้าง ซึ่งนิยมเรียกกันว่า ต้น
ส่วนมากใช้ราก แก่น เปลือก ใบ ฝึกหรือลูก จะอธิบายถึงรสและ สรรพคุณของส่วนที่ใช้ทํายาดังต่อไปนี้

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2562

บทที่ ๒ เภสัชวัตถุ : ๑.หลักการพิจารณาตัวยา ๕ ประการ

เภสัชวัตถุ คือ วัตถุธาตุนานาชนิดที่นำมาใช้ประกอบเป็นยารักษาโรค

ตามคัมภีร์แพทย์กล่าวไว้ว่า "สรรพวัตถุต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้ล้วนเกิดขึ้นแต่ธาตุทั้ง ๔ ย่อมเป็นยารักษาโรคได้ทั้งสิ้น" ตามคำกล่าวก็อาจจะเป็นได้ แต่จะมีสรรพคุณและประโยชน์มากน้อยอย่างไรต้องสุดแล้วแต่ชนิดของวัตถุธาตุนั้นๆ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ลึกซึ้งถึงรูปลักษณะ ส่วนที่ใช้ ชนิดของวัตถุธาตุ อ่อนหรือแก่ เก่าหรือใหม่ สดหรือแห้ง มีคุณภาพดีหรือเลวอย่างไร เมื่อนำมาใช้แล้วจะมีสรรพคุณจริงตามตำราหรือไม่ การเอาใจใส่อย่างละเอียดและปราณีตอย่างนี้ ต้องมีอยู่ประจำตัวเภสัชกรเสมอ

เภสัชวัตถุจำแนกออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ
ประเภทที่ ๑ พืชวัตถุ ได้แก่ พรรณไม้ต่างๆจำแนกออกได้เป็น พืชจำพวกต้น พืชจำพวกเถา-เครือ พืชจำพวกหัว-เหง้า พืชจำพวกผัก และพืชจำพวกหญ้า ซึ่งจะต้องรู้จักส่วนต่างๆ ของพืชที่นำมาใช้เป็นยาเป็นต้นว่า ราก หัว ต้น กะพี้ แก่น เปลือก ใบ ดอก เกสร ผล เมล็ด ว่ามีรูป สี กลิ่น รส และชื่อเรียกอย่างไร
ประเภทที่ ๒ สัตว์วัตถุ ได้แก่ ร่างกายและอวัยวะของสัตว์ทั้งหลาย จำแนกสัตว์ออกได้เป็น สัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์อากาศ ซึ่งจะต้องรู้จักส่วนต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นยา เป็นต้นว่า ขน เขา เขี้ยว นอ หนัง กราม กรวด น้ำดี เล็บ กระดูก ว่าเป็นของสัตว์อะไร มีรูป สี กลิ่น รส และชื่อเรียกอย่างไร
ประเภทที่ ๓ ธาตุวัตถุ ได้แก่ แร่ธาตุต่างๆที่เกิดขึ้นเอง หรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุ หรือสิ่งสังเคราะห์ขึ้น จำแนกธาตุออกเป็น ธาตุที่สลายตัวได้ง่าย และธาตุที่สลายตัวได้ยาก ซึ่งจะต้องรู้จักแร่ธาตุนั้นๆ ว่า มีรูป สี กลิ่น รส และชื่อเรียกอย่างไร

๑.หลักการพิจารณาตัวยา ๕ ประการ
ในการที่จะรู้จักเภสัชวัตถุนั้นๆ จำเป็นต้องรู้ให้ลึกซึ้งถึงรูปลักษณะพื้นฐานของวัตถุธาตุ ซึ่งมีหลักในการพิจารณาตัวยา ๕ ประการ คือ

๑.๑ รูป คือ การรู้รูปลักษณะของตัวยานั้นว่ามีรูปร่างที่ปรากฏเป็นอย่างไร ถ้าเป็นพืชวัตถุก็ต้องรู้ว่าเป็นพืชจำพวกต้น จำพวกเถา จำพวกหัว จำพวกผักหรือหญ้า ว่ามีส่วนต่างๆ เช่น ต้น ราก ใบ ดอก ผล มีรูปร่างอย่างไร ถ้าเป็นสัตว์วัตถุก็ต้องรู้ว่าเป็น สัตว์จำพวกสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์อากาศ ว่ามีอวัยวะต่างๆ เช่น ขน เขา นอ เขี้ยว กระดูก มีรูปร่างเป็นอย่างไร ถ้าเป็นธาตุวัตถุ ก็ต้องรู้ว่าเป็นธาตุสลายตัวได้ง่าย ธาตุสลายตัวได้ยาก ว่า มีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว เป็นเกล็ด เป็นแผ่น หรือเป็นผง เป็นต้น เรียกว่ารู้จักรูปของตัวยา

๑.๒ สี คืิอ การรู้สีของตัวยานั้นว่ามีสีอะไร เช่นน ใบไม้มีสีเขียว กระดูกสัตว์มีสีขาว แก่นฝางมีสีแดง ยาดำมีสีดำ จุนสีมีสีเขียว กำมะถันมีสีเหลือง เป็นต้น เรียกว่ารู้จักสีของตัวยา

๑.๓ กลิ่น คืิอ การรู้กลิ่นของตัวยานั้นว่ามีกลิ่นเป็นอย่างไร อย่างนี้กลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น เช่น กฤษณา กำยาน อบเชย ดอกมะลิ ชะมดเช็ด อำพันทอง มีกลิ่นหอม ยาดำ กำมะถัน กระดูกสัตว์ มหาหิงคุ์ มีกลิ่นเหม็น เป็นต้น เรียกว่ารู้จักกลิ่นของตัวยา

๑.๔ รส คืิอ การรู้รสของตัวยานั้นว่ามีรสเป็นอย่างไร ให้รู้ว่าอย่างนี้รสจืด รสขม รสหวาน รสเปรี้ยว รสเมาเบื่อ รสเผ็ดร้อน รสมัน รสหอมเย็น รสเค็ม หรือรสฝาด เช่น พริกไทยมีรสร้อน มะนาวมีรสเปรี้ยว น้ำผึ้งมีรสหวาน เป็นต้น เรียกว่ารู้จักรสของตัวยา

๑.๕ ชื่อ คืิอ การรู้ชื่อของตัวยานั้นว่าเขาสมมติชื่อเรียกไว้อย่างไร เช่น สิ่งนั้นเรียกชื่อเป็นกระทือ มะขาม วัว กวาง เสือ เกลือ กำมะถัน ศิลายอน เป็นต้น เรียกว่ารู้จักชื่อของตัวยา

ในหลัก ๕ ประการดังกล่าวมานี้ จะเป็นข้อพิสูจน์ทำให้เรารู้ว่าเป็นตัวยาอะไร ฉะนั้นการจะรู้จักตัวยาได้นั้น จึงต้องอาศัยหลัก ๕ ประการดังกล่าวนี้

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562

คัมภีร์แพทย์แผนไทย

ดาวน์โหลดคัมภีร์แพทย์แผนไทย 

  1. พระคัมภีร์โรคนิทาน
  2. พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์
  3. คัมภีร์ฉันทศาสตร์
  4. คัมภีร์ไพจิตร์มหาวงศ์
  5. พระคัมภีร์ตักศิลา
  6. พระคัมภีร์มหาโชตรัต
  7. คัมภีร์อุทรโรค
  8. คัมภีร์สิทธิสารสงเคราะห์
  9. คัมภีร์อติสาร
  10. คัมภีร์มัญชุสาระวิเชียร
  11. คัมภีร์มุขโรค
  12. พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย
  13. พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์
  14. คัมภีร์เวชศึกษา
  15. คัมภีร์ทิพย์มาลา
  16. คัมภีร์กุฏฐโรค
  17. พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์
  18. พระคัมภีร์มุกฉาปักขันธิกา
  19. พระคัมภีร์กระษัย
  20. พระคัมภีร์ธาตุบรรจบ
  21. พระคัมภีร์ชวดาน
  22. คัมภีร์อภัยสันตา
  23. พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์
  24. พระคัมภีร์วรโยคสาร
  25. พระคัมภีร์สรรพคุณ(แลมหาพิกัด)


วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

บทที่ ๑ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเภสัชกรรม : ๔.ประวัติยาเบญจกูล

เบญจกูล หรือ พิกัดเบญจกูล เป็นพิกัดยาที่ใช้กันมากในตำรับยาไทย เพราะว่าใช้ประจำในธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในร่างกายของคนเรา ทั้งยังใช้แก้ในกองฤดู กองสมุฏฐานต่างๆอีกด้วย 


ที่มาภาพ : https://thaiherbweb.com/th/articles/5123-เบญจกูล

พระอาจารย์ท่านได้กล่าวสืบต่อกันมาว่ามีฤๅษี 6 ตน ซึ่งแต่ละคนได้ค้นคว้าตัวยา โดยบังเอิญตัวแต่ละอย่างนั้นมีสรรพคุณรักษาโรค และสมุฏฐานต่างๆได้ ซึ่งมีประวัติดังนี้
  • ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “ปัพพะตัง” บริโภคซึ่งผลดีปลี เชื่อว่า อาจจะระงับอชิณโรคได้ (แพ้ของแสลง)
  • ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “อุธา” บริโภคซึ่งรากช้าพลู เชื่อว่า อาจจะระงับซึ่งเมื่อยขบได้
  • ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “บุพเทวา” บริโภคซึ่งเถาสะค้าน เชื่อว่า อาจระงับเสมหะและวาโยได้
  • ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “บุพพรต” บริโภคซึ่งรากเจตมูลเพลิง เชื่อว่า อาจจะระงับโรคอันบังเกิดแต่ดีอันทำให้หนาวและเย็นได้
  • ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “มหิทธิธรรม” บริโภคซึ่งเหง้าขิง เชื่อว่า อาจระงับตรีโทษได้
  • ฤๅษีตนหนึ่งชื่อ “มุรทาธร” เป็นผู้ประมวลสรรพยาทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน ให้ชื่อว่า เบญจกูลเสมอภาค เชื่อว่า ยาเบญจกูลนี้ อาจระงับโรคอันบังเกิดแก่ ทวัตติงสาการ คือ อาการ 32 ของร่างกายมีผมเป็นต้นและมันสมองเป็นที่สุด และบำรุงธาตุทั้ง 4 ให้บริบูรณ์
 ตัวยาแต่ละตัวในเบญจกูล ใช้เป็นยาประจำธาตุได้ดังนี้ 
ดอกดีปลี ประจำธาตุดิน (ปถวีธาตุ)
รากช้าพลู ประจำธาตุน้ำ (อาโปธาตุ)
เถาสะค้าน ประจำธาตุลม(วาโยธาตุ)
รากเจตมูลเพลิง ประจำธาตุไฟ(เตโชธาตุ)
เหง้าขิง ประจำทวารของร่างกาย (อากาศธาตุ)

บทที่ ๑ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเภสัชกรรม : ๓.หลักเภสัช ๔ ประการ

    ๓.หลักเภสัช ๔ ประการ

    การศึกษาวิชาเภสัชกรรมแผนโบราณ จำเป็นต้องรู้หลักสำคัญของการศึกษาวิชานี้ เพื่อได้จดจำง่ายได้จัดไว้เป็นหลักฐานใหญ่ๆ ที่เรียกว่า “หลักเภสัช” โดยจำแนกออกเป็น ๔ บท เพราะผู้ที่จะเป็นเภสัชกรแผนโบราณจำเป็นต้องรู้หลักใหญ่ ๔ ประการนี้ก่อน คือ

     ๑.เภสัชวัตถุ คือ รู้จักวัตถุธาตุนานาชนิดที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรคและรักษาไข้ จะต้องรู้ลักษณะพื้นฐานของตัวยาหรือสมุนไพรแต่ละชนิด คือ ต้องรู้จักชื่อ ลักษณะ สี กลิ่น และรส

    ๒.สรรพคุณเภสัช คือ รู้จักสรรพคุณของวัตถุนานาชนิดที่จะนำมาใช้เป็นยา จะต้องรู้รสของตัวยานั้นๆก่อนจึงสามารถทราบสรรพคุณได้ภายหลัง

    ๓.คณาเภสัช คือ รู้จักการจัดหมวดหมู่ตัวยาหลายสิ่งหลายอย่าง รวมเรียกเป็นชื่อเดียว

    ๔.เภสัชกรรม คือ รู้จักการปรุงยา ผสมเครื่องยาหรือตัวยา ตามที่กำหนดในตำรับยา หรือตามใบสั่ง

บทที่ ๑ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเภสัชกรรม : ๒.จรรยาเภสัช

จรรยาเภสัช ผู้ที่จะเป็นเภสัชกรนอกจากจะต้องศึกษาถึงหลักเภสัชกรรมแล้ว ยังจะต้องมีคุณธรรม คือ ต้องมีจรรยาที่ดีงาม ซึ่งจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวให้ประพฤติดี ปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรและชอบธรรมเป็นทางนำความสุขความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตน จรรยาเภสัช 4 ประการ มีดังนี้


1.ต้องมีความขยันหมั่นเพียร หมั่นเอาใจใส่ศึกษาวิชาการแพทย์เพิ่มเติม ให้เหมาะแก่กาลสมัยอยู่เสมอ โดยไม่เกียจคร้าน

2.ต้องพิจาณาหาเหตุผลในการปฏิบัติงานด้วยความสะอาด ประณีต ไม่ประมาท ไม่มักง่าย

3.ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต
และมีเมตตาจิตแก่ผู้ใช้ยา ไม่โลภเห็นแก่ลาภ โดยหวังผลกำไรมากเกินควร

4.ต้องละอายต่อบาป
ไม่กล่าวเท็จหรือกล่าวโอ้อวด ให้ผู้อื่นหลงเชื่อในความรู้ ความสามารถอันเหลวไหลของตน

5.ต้องปรึกษาผู้ชำนาญ
เมื่อเกิดการสงสัยในตัวยาชนิดใด หรือวิธีปรุงยา โดยไม่ปิดบังความเขลาของตน


ความสำคัญของจรรยาเภสัชนี้ เพื่อให้เภสัชกรระลึกอยู่เสมอว่าการปรุงยา หรือผสมยา หรือการประดิษฐ์วัตถุใดๆ ขึ้น เป็นยาสำหรับมนุษย์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตมนุษย์ จะต้องมีความสะอาด ประณีต รอบคอบ นึกถึงอยู่เสมอว่าเป็นสิ่งที่บำบัดโรคภัยไข้เจ็บต่อชีวิตมนุษย์ มิใช่เป็นยาทำลายชีวิตมนุษย์  ฉะนั้น เภสัชกรจึงต้องมีจิตใจบริสุทธิ์ยึดหลักจรรยาเภสัชเปรียบเหมือนศีล 5 เป็นข้อยึดเหนี่ยวหรือเป็นกฎข้อบังคับเตือนใจเตือนสติให้ผู้เป็นเภสัชกร ประพฤติปฏิบัติไปในทางที่ถูกที่ควรเป็นทางนำไปสู่คุณงามความดี และนำความเจริญก้าวหน้าแห่งวิชาชีพสืบต่อไปชั่วกาลนาน

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

บทที่ ๑ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเภสัชกรรม : ๑.ประวัติความเป็นมา

๑.ประวัติความเป็นมา

๑.๑ ประวัติความเป็นมาของการแพทย์แผนโบราณ


การแพทย์แผนโบราณนั้นเริ่มมีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งในสมัยนั้นมีชายผู้หนึ่ง ชื่อ ชีวกโกมารภัจจ์ มีความสนใจในการศึกษาวิชาแพทย์ เพราะเห็นว่าเป็นวิชาชีพที่ไม่เบียดเบียนผู้ใด ท่านเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา ปรารถนาที่จะให้มนุษย์มีความสุข จึงได้ไปศึกษาวิชาการทางการแพทย์ในสำนักทิศาปาโมกข์แห่งเมืองตักศิลา ท่านเป็นผู้ที่ฉลาดมีความสามารถในการเรียนรู้เรียนได้มาก เรียนได้เร็ว ความทรงจำดี ใช้เวลาเรียนน้อยกว่าผู้อื่น เมื่อจบวิชาแพทย์แล้ว สามารถรักษาคนไข้ครั้งเดียวก็หายได้  ในเวลาต่อมาพระเจ้าพิมพิสาร ทรงประชวรด้วยโรคริดสีดวงทวาร ก็ทรงโปรดให้หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปถวายการรักษา หมอชีวกโกมารภัจจ์ท่านได้ถวายการรักษาด้วยการทายาเพียงครั้งเดียว พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงหายจากโรคที่เป็น จึงโปรดให้เป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์และบำรุงพระสงฆ์ นับว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นแพทย์ผู้มีความรู้ความสามารถตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล และมีผู้เคารพผกย่องมากมาย




๑.๒ ประวัติความเป็นมาของการแพทย์แผนโบราณในประเทศไทย
๑.๒.๑ การแพทย์แผนโบราณสมัยก่อนรัตนโกสินทร์
         ประวัติการแพทย์แผนโบราณในประเทศไทยนั้น ได้มีการค้นพบศิลาจารึกของอาณาจักรขอมประมารปี  พ.ศ. 1725-1729 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโดยการสร้างสถานพยาบาล เรียกว่า “อโธคยาศาลา” โดยมีผู้ทำหน้าที่รักษาพยาบาล ได้แก่ หมอ พยาบาล เภสัชกร รวม 92 คน มีพิธีกรรมบวงสรวงพระไภสัชยคุรุไวฑูรย์ ด้วยยาและอาหารก่อนแจกจ่ายไปยังผู้ป่วย ต่อมามีการค้นพบหินบดยาสมัยทวาราวดีและศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ในสมัยสุโขทัยได้บันทึกไว้ว่าทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่บนเขาหลวงหรือเขาสรรพยา เพื่อให้ราษฏรได้เก็บสมุนไพรไปใช้รักษาโรคยามเจ็บป่วย 

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ค้นพบบันทึกว่า มีระบบการจัดหายาที่ชัดเจนสำหรับราษฏร มีแหล่งจำหน่ายยาและสมุนไพรหลายแห่งทั้งในและ นอกกำแพงเมือง มีการรวบรวมตำรับยาต่างๆ   ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์โบราณ เรียกว่า “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” การแพทย์แผนโบราณมีความรุ่งเรืองมากโดยเฉพาะการนวด ในสมัยนี้การแพทย์แผนตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาท โดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเข้ามาจัดตั้ง โรงพยาบาลรักษาโรค แต่ขาดความนิยมจึงได้ล้มเลิกไป


๑.๒.๒ การแพทย์แผนโบราณสมัยรัตนโกสินทร์
  • รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม หรือ “วัดโพธิ์” ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ให้ชื่อว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ทรงให้มีการรวบรวมและจารึกตำรายา ฤๅษีดัดตน ตำราการนวดไว้ตามศาลารายส่วนการจัดหายาของทางราชการมีการจัดตั้งกรมหมอและโรงพระโอสถคล้ายกับในสมัยอยุธยา แพทย์ที่รับราชการ เรียกว่า “หมอหลวง” ส่วนหมอที่รักษาราษฎรทั่วไป เรียกว่า  “หมอราษฎร” หรือ “หมอเชลยศักดิ์
  • รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเห็นว่าคัมภีร์แพทย์โรงพระโอสถสมัยอยุธยานั้นสูญหายไป เนื่องจากตอนนั้นมีสงครามกับพม่า 2 ครั้ง บ้านเมืองถูกทำลายและราษฎรรวมทั้งหมอแผนโบราณถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ทำให้ตำรายาและข้อมูล เกี่ยวกับการแพทย์ของไทยถูกทำลายไปด้วย จึงมีพระบรมราชโองการให้เหล่า ผู้ชำนาญโรคและสรรพคุณยา รวมทั้งผู้ที่มีตำรายานำเข้ามาถวายและให้กรมหมอหลวงคัดเลือก    ให้จดเป็นตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถ และในปี พ.ศ.2359 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายชื่อว่า  “กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย
  • รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอีกครั้ง ทรงโปรดเกล้าฯให้มีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งแรก คือ “โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์” ในงานฉลองวัดโพธิ์สมัยนั้น ทรงดำริว่าอันตำรายาไทยและการรักษาโรคแบบอื่นๆ เช่น การบีบนวด ประคบ หมอที่มีชื่อเสียงต่างก็หวงตำราของแต่ละคนไว้เป็นความลับ  ตลอดจนทรงดำริว่า การรักษาโรคทางตะวันตกกำลังแผ่อิทธิพลลงเข้ามาในประเทศสยาม และในเวลาอันใกล้น่าจะบดบังรัศมีของการแพทย์แผนโบราณเสียหมดสิ้น สุดท้ายอาจไม่มีตำรายาไทยเหลืออยู่เพื่อประโยชน์ของอนุชนรุ่นหลังก็ได้ จึงทรงประกาศให้ผู้มีตำรับตำรายาโบราณทั่งหลายที่มีสรรพคุณดีและเชื่อถือได้ เท่าที่มีอยู่สมัยนั้น นำมาจารึกเป็นหลักฐานไว้บนหินอ่อน ประดับไว้บนผนังพระอุโบสถ   ศาลาราย เสา และกำแพงวิหารคดรอบพระเจดีย์สี่องค์และตามศาลาต่างๆ ของวัดโพธิ์ ที่ปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้น การจารึกนี้เป็นตำราบอกสมุฏฐานของโรคและวิธีการรักษา และยังได้มีการจัดหาสมุนไพรที่ใช้ปรุงยาและหายากมาปลูกไว้ในวัดโพธิ์เป็นจำนวนมาก
    นอกจากนั้นได้ทรงให้ปั้นรูปฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประสงค์จะฝึกตนเป็นแพทย์ หรือหาทางบำบัดตนได้ศึกษาเป็นสาธารณะทาน นับว่าเป็นการจัดการศึกษาให้กับประชาชนรูปแบบหนึ่ง ตำรายาเหล่านี้พอจะทราบกันดีในบรรดาหมอไทยว่า ตำรายาดีจริงๆนั้น คงไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างแท้จริง แต่ก็เป็นอนุสรณ์และเป็นโรงเรียนการแพทย์ของเมืองไทย 
    รัชสมัยนี้มีการนำเอาการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาเผยแพร่โดยคณะมิชชันนารีชาวอเมริกัน โดยการนำของนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ ซึ่งคนไทยเรียกว่า “หมอบรัดเลย์” เช่น การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ การใช้ยาเม็ดควินินรักษาโรคไข้จับสั่น เป็นต้น

  • รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้นำการแพทย์แผนตะวันตกมาใช้มากขึ้น เช่น  การสูติกรรมสมัยใหม่ แต่ไม่สามารถให้ประชาชนเปลี่ยนความนิยมได้  เพราะการรักษาพยาบาลแผนโบราณของไทย    เป็นจารีตประเพณีและวัฒนธรรมสืบเนื่องกันมาและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของไทย
  • รัชกาลที่ 5  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    มีการจัดตั้งศิริราชพยาบาลใน พ.ศ.2431    มีการเรียนการสอนและให้การรักษาทั้งการแพทย์ทั้งแผนโบราณและ แผนตะวันตกร่วมกันหลักสูตร 3 ปี การจัดการเรียนการสอนและบริการรักษาทางการแพทย์ ทั้งแผนโบราณและแผนตะวันตกร่วมกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีการขัดแย้งระหว่างผู้สอนและผู้เรียนเป็นอย่างมาก ด้วยหลักการแนวคิด  และวิธีการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน  ทำให้ยากที่จะผสมผสานกันได้ มีการพิมพ์ตำราแพทย์สำหรับใช้ในโรงเรียนแพทย์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2438    โดยพระยาพิษณุ ชื่อตำรา “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” ได้รับยกย่องให้เป็นตำราแห่งชาติฉบับแรก ต่อมาพระยาพิษณุประสาทเวชเห็นว่า ตำราเหล่านี้ยากแก่ผู้ศึกษาจึงได้พิมพ์ตำราขึ้นใหม่ ได้แก่ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง 2 เล่ม  และตำราแพทย์ศาสตร์สังเขป 3 เล่ม ซึ่งยังคงใช้เป็นตำราทางการแพทย์มาจนทุกวันนี้
  • รัชกาลที่ 6   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการสั่งยกเลิกวิชาการแพทย์แผนโบราณ และต่อมาในปี พ.ศ. 2466 มีประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติการแพทย์เป็นการ ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับประชาชน อันเนื่องมาจากการประกอบโรคศิลปะของผู้ที่ไม่มีความรู้และมิได้ฝึกหัด ด้วยความไม่พร้อมในด้านการเรียนการสอน การสอบ และการประชาสัมพันธ์ ทำให้หมอพื้นบ้านจำนวนมากกลัวถูกจับจึงเลิกประกอบอาชีพนี้ บ้างก็เผาตำราทิ้ง
  • รัชกาลที่ 7   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรากฎหมายเสนาบดี แบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็น “แผนปัจจุบัน” และ “แผนโบราณ” โดยกำหนดไว้ว่า๑.ประเภทแผนปัจจุบัน คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยความรู้จากตำราอันเป็นหลักวิชาโดยสากลนิยม ซึ่งดำเนินและจำเริญขึ้น โดยอาศัยการศึกษา ตรวจค้น และทดลองของผู้รู้ในทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก
    ๒.ประเภทแผนโบราณ คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัย ความสังเกต ความชำนาญ  อันได้สืบต่อกันมาเป็นที่ตั้ง หรืออาศัยตำราอันมีมาแต่โบราณ มิได้ดำเนินไปในทางวิทยาศาสตร์
  • รัชกาลที่ 9  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชในรัชสมัยนี้มีการจัดตั้งสมาคมของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ได้ก่อตั้งขึ้นที่วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2500 นับนั้นมาสมาคมต่างๆ ก็ได้แตกสาขาออกไป ปัจจุบันก็มีโรงเรียนแพทย์แผนโบราณที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพฯ   และต่างจังหวัด ใน ปี พ.ศ.2525 ได้ก่อตั้งโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมารภัจจ์) ให้การอบรมศึกษาด้านการแพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์มาจนกระทั่งทุกวันนี้